#คําแนะนําสําหรับธุรกิจขนาดเล็ก

จับกระแส M-commerce ในตลาดโลก โอกาสธุรกิจบนหน้าจอเล็กๆ แต่ยอดขายระดับบิ๊กเบิ้ม

facebook sharing button
twitter sharing button
linkedin sharing button
Smart Share Buttons Icon Share

ในปีนี้ การค้าผ่านมือถือหรือ M-commerce จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 3 ใน 4 ของยอดขายอีคอมเมิร์ซโลก นั่นหมายถึงการซื้อขายออนไลน์ส่วนใหญ่กำลังเกิดขึ้นบนมือถือ ดังนั้น ถ้าคุณอยู่ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เว็บไซต์ของคุณต้องไม่เพียงแค่รองรับการใช้งานบนมือถือได้เท่านั้น แต่ยังต้องออกแบบมาสำหรับการใช้งานบนมือถือเป็นอันดับแรกอีกด้วย (mobile-first mindset) พูดง่ายๆ คือถ้าธุรกิจของคุณยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการซื้อขายผ่านมือถือ เตรียมพลาดโอกาสซื้อขายกับลูกค้านับล้านๆ คนไปได้เลย

ในบทความนี้ DHL Express ผู้นำอุตสาหกรรมขนส่งด่วนระหว่างประเทศ และลอจิสติกส์พาร์ทเนอร์ของลูกค้าธุรกิจทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ให้เติบโตทั่วโลก จะมาอัพเดทเทรนด์ล่าสุดของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ ช่วยคุณจับกระแสการเติบโตของการค้าผ่านมือถือ พร้อมทั้งแนะนำทิปเด็ดๆ ที่จะช่วยปรับปรุงหน้าร้านออนไลน์ของคุณให้โดดเด่นโดนใจเจนเนอเรชั่นนักช้อป แค่นี้ก็เตรียมรับออเดอร์ที่หลั่งไหลเข้ามาผ่านหน้าจอมือถือได้เลย

พลังของ M-commerce

การซื้อขายผ่านมือถือหรือที่เรียกกันติดปากว่า M-commerce (Mobile Commerce) เป็นการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านอุปกรณ์ไร้สายแบบพกพา เช่น สมาร์ทโฟน และแทบเล็ต ปัจจุบัน เราไม่ได้ใช้มือถือแค่เพื่อการติดต่อสื่อสารอีกต่อไปแล้ว แต่ยังใช้สำหรับการซื้อขายในชีวิตประจำวันด้วย จากการสำรวจพบว่าวัยผู้ใหญ่ใช้เวลาโดยเฉลี่ยวันละ 3.3 ชั่วโมง บนหน้าจอมือถือ โดยกิจกรรมที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดก็คือการช้อปปิ้ง! ถ้ายังมองไม่ออกว่าโอกาสสร้างยอดขายจากหน้าจอเล็กๆ นี้มีมากขนาดไหน ข้อมูลต่อไปนี้จะทำให้คุณอยากกระโดดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ M-commerce แน่ๆ

  • ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน 3.8 พันล้านคน
  • ในปีนี้ (2021) คาดว่ายอดขาย M-commerce ​จะมีมูลค่าสูงถึง 3.56 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • ในปีนี้ M-commerce จะมีสัดส่วนเป็น 72.9% ของยอดขายอีคอมเมิร์ซโลก
  • ในปี 2022 คาดว่าตลาด M-commerce ที่ใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกของโลก จะได้แก่ จีน (1.1 ล้านล้าน) สหรัฐอมริกา (0.36 ล้านล้าน) และอังกฤษ​ (0.115 ล้านล้าน)

ใครคือลูกค้าของคุณ

กลุ่มคนที่ช้อปปิ้งผ่านมือถือมากที่สุดเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มมิลเลนเนียล และ Gen Z อย่างละ 27% เท่าๆ กัน รองลงมาเป็น Gen X 18% เบบี้บูม 5% และอื่นๆ อีก 5%

ในบรรดากลุ่มคนทั้งหมด Gen Z ซึ่งเกิดระหว่างปี 1996 ถึง 2010 เป็นประชากรโลกกลุ่มใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน คนกลุ่มนี้โตมากับอินเทอร์เน็ต และใช้เวลาช้อปปิ้งบนมือถือมากกว่ากลุ่มมิลเลนเนียลถึง 2 เท่า แม้ว่ากำลังซื้อของ Gen Z อาจยังน้อย แต่ถ้าคิดว่าความภักดีต่อแบรนด์มักก่อตัวขึ้นในช่วงอายุยี่สิบต้นๆ การทำให้คนกลุ่มนี้ประทับใจแบรนด์ของคุณตั้งแต่แรกเริ่มก็เป็นสิ่งสำคัญ​

คุณควรออกแบบเว็บไซต์หรือหน้าร้านบนมือถือให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้า เช่น ถ้ากลุ่มลูกค้าของคุณคือ Gen Z ก็ไม่ควรให้มีข้อความเยอะๆ บนเว็บเพจ เพราะ Gen Z คุ้นเคยกับสื่อบันเทิงที่ไม่มีโฆษณาอย่าง Netflix และควรขายของแบบเนียนๆ โดยเชื่อมต่อโฆษณาเข้ากับหน้าฟีดบน Instagram  ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ Gen Z นิยม หรือใช้เซเลบริตี้และอินฟลูเอนเซอร์ที่คนกลุ่มนี้ไว้วางใจนำเสนอสินค้า

แต่ถ้าลูกค้าของคุณเป็นกลุ่มคนรุ่นเบบี้บูมซึ่งมีเพียง 5% คุณก็มีโอกาสขายของได้เช่นกันถ้ารู้วิธีการเข้าหาคนกลุ่มนี้อย่างถูกต้อง คนรุ่นเบบี้บูมชอบสิ่งจูงใจอย่างการลดแลกแจกแถม ต้องการความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัย และอยากให้แบรนด์ช่วยแก้ปัญหาที่ตนกังวลใจ ดังนั้น การรับประกันคุณภาพสินค้า ความสะดวกสบาย รวมทั้งการส่งมอบสินค้าอย่างรวดเร็วโดยผู้ให้บริการขนส่งมืออาชีพ คือสิ่งที่จะช่วยคลายความกังวลใจให้เบบี้บูมเมอร์ได้

เว็บไซต์ของคุณเป็นมิตรกับมือถือหรือยัง

ประเด็นของเรื่องนี้เรียบง่ายมาก นั่นคือถ้าหน้าร้านออนไลน์ของคุณไม่สอดรับกับการใช้งานบนมือถือ คุณก็อาจพลาดการขายรายการใหญ่ๆ ได้ เพราะผู้บริโภคไม่ว่าประเทศไหน ต่างก็ต้องการให้การช้อปปิ้งบนมือถือเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ยุ่งยาก สามารถคลิกสั่งซื้อและชำระเงินให้เสร็จสิ้นได้ภายในไม่กี่ขั้นตอน และถ้ามันไม่ง่าย พวกเขาก็ไม่ซื้อ

ต่อไปนี้เป็นเช็กลิสต์ที่คุณสามารถนำไปปรับปรุงเว็บไซต์ เพื่อเพิ่มโอกาสการขายผ่าน M-commerce ได้

  • ทำเว็บไซต์ให้ดาวน์โหลดเร็ว
  • มีระบบ Navigation ที่ใช้งานง่าย
  • วางข้อมูลสำคัญๆ ไว้อันดับต้นๆ เพราะผู้ใช้จะเลื่อนดูหน้าจอก็ต่อเมื่อมีสิ่งที่สนใจเท่านั้น
  • ใช้ดร็อปดาวน์เมนู เพื่อประหยัดพื้นที่
  • ทำตัวหนังสือและปุ่มให้มีขนาดใหญ่ขึ้น
  • กำจัดปลั๊กอินที่ไม่จำเป็นและโฆษณาแบบป๊อบอัพออกไป
  • ทำแบบฟอร์มให้เรียบง่าย
  • ทำแบบฟอร์มที่ใส่ข้อมูลอัตโนมัติได้ เช่น ที่อยู่

จับลูกค้าให้มั่น ด้วยขั้นตอน Checkout

เมื่อลูกค้ารู้สึกพอใจกับการใช้งานเว็บไซต์แล้ว พวกเขาอาจอยากสั่งซื้อสินค้า แต่ในขณะที่ผู้บริโภคนิยมซื้อขายผ่านมือถือมากกว่าอุปกรณ์อื่นๆ อัตราการทิ้งตะกร้าสินค้าของผู้ที่ชมสินค้าผ่านมือถือก็สูงกว่าอุปกรณ์อื่นๆ เช่นกัน สาเหตุสำคัญ 3 อันดับแรก ที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจทิ้งตะกร้าสินค้าในท้ายที่สุด ได้แก่

  1. รายจ่ายที่เพิ่มเข้ามาโดยไม่ทันตั้งตัว (เช่น ภาษี)
  2. การบังคับสร้างบัญชีผู้ใช้งาน และ
  3. เวลาส่งมอบสินค้าที่นานเกินไป

การปรับปรุงและลดเงื่อนไขในหน้า Checkout ให้ง่าย จะช่วยเพิ่มโอกาสการสั่งซื้อได้ถึง 35.6% ต่อไปนี้เป็นเช็กลิสต์ที่คุณสามารถทำได้เพื่อปรับปรุงหน้า Checkout ให้ดีขึ้น

  • ทำราคาสินค้าให้โปร่งใสและชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นขั้นตอนการสั่งซื้อและดูให้แน่ใจว่าคุณได้รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ภาษี ไว้ในราคาสินค้าเรียบร้อยแล้ว
  • ทำให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าในฐานะ ‘Guest’ ได้ โดยที่ไม่ต้องลงทะเบียน
  •  มีทางเลือกการชำระเงินที่หลากหลาย เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต และ PayPal
  •  มีตัวเลือกการส่งสินค้าที่รวดเร็วและยืดหยุ่น รวมถึงการส่งด่วน และการส่งข้ามประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าการส่งสินค้าข้ามประเทศอย่างรวดเร็ว ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น

 

โซเชียลมีเดีย

โซเชียลมีเดียกับโทรศัพท์มือถือเป็นเหมือนเพื่อนซี้ที่ไปไหนไปกัน โซเชียลมีเดียตัวท็อปที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก 3 อันดับแรก ได้แก่ Facebook, YouTube และ WhatsApp จากการศึกษาแบรนด์ต่างๆ บนโซเชียลมีเดียพบว่า

  • 91% ของผู้ใช้จะเยี่ยมชมเว็บไซต์ หรือแอพของแบรนด์
  • 89% จะสั่งซื้อสินค้าจากแบรนด์นั้นๆ และ
  • 85% จะแนะนำแบรนด์ต่อให้กับเพื่อนและครอบครัว

ดังนั้น ควรดูให้แน่ใจว่าคุณได้ใช้โซเชียลมีเดียให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น มีการแท็กสินค้าบน Instagram มีการปักหมุดสินค้าบน Pinterest หรือมีการเปิดร้านค้าบน Facebook ถ้าคุณคิดว่าลูกค้าของคุณอยู่ที่นั่น ถ้าลูกค้าของคุณอยู่ในจีน คุณก็ไม่ควรมองข้าม WeChat และถ้าลูกค้าของคุณอยู่ในแอฟริกา คุณก็ควรรู้จักทางเลือกในการชำระเงินอย่าง M-Pesa, Paga และ Verve

ผลการวิจัยพบว่าสินค้าที่ขายด้วยวิธีการบอกต่อ (word of mouth) จะขายได้ดีที่สุดบนแพลตฟอร์ม Facebook โดยเฉพาะสินค้าประเภทบิวตี้ แฟชั่น และอุปกรณ์กีฬา ส่วนบริการที่ขายดีบน Facebook ได้แก่ บริการทางการเงิน โทรคมนาคม และการท่องเที่ยว รวมถึงสินค้าราคาสูงอย่างคอมพิวเตอร์ แพ็คเกจท่องเที่ยววันหยุด และรถยนต์

ทิปทิ้งท้าย!

จงทดสอบเว็บไซต์ของคุณและคอยเช็กฟีดแบ็คจากลูกค้าอยู่เสมอ แล้วนำความเห็นเหล่านั้นไปปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (user experience) เพื่อเปลี่ยนการเข้าชมสินค้าให้กลายเป็นยอดขาย หรือคอยติดตามเคล็ดลับดีๆ และประสบการณ์มืออาชีพในเรื่องการขยายธุรกิจในตลาดการค้าระหว่างประเทศ ส่วนเรื่องการส่งสินค้าไปต่างประเทศ ไว้ใจให้ DHL Express ดูแล เราพร้อมจะเป็นผู้ช่วยมืออาชีพที่ช่วยขนส่งสินค้าของคุณไปสู่ผู้รับปลายทางครอบคลุม 220 ประเทศทั่วโลก